เทคนิคแลมป์ April 26, 2020April 26, 2020Sunanta Thammakitjawatข่าวสาร เทคนิคแลมป์ หรือ Loop-mediated isothermal amplification (LAMP) คือ เทคนิคที่สามารถเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมทั้ง DNA และ RNA ที่อุณหภูมิในช่วง 60-65 องศาเซลเซียส สามารถเพิ่มปริมาณสารพันธุกรรมได้ถึง 1000 ล้าน (10 ยกกำลัง 9) เท่า ภายในเวลา 1 ชั่วโมง เทคนิคแลมป์เป็นเทคนิคตรวจหาสารพันธุกรรมของตัวเชื้อ เช่นเดียวกับ เทคนิค PCR และ Realtime-PCR โดย LAMP มีความไวในการตรวจวัด (sensitivity) สูงกว่า PCR และอาจเทียบเท่า Realtime-PCR และเนื่องจาก LAMP มีความจำเพาะ (specificity) กับตัวเชื้อสูง มีขั้นตอนการตรวจไม่ยุ่งยาก ใช้งานง่าย และใช้เครื่องมือราคาไม่แพง เทคนิค LAMP จึงถูกนำมาพัฒนาและประยุกต์ใช้ในการตรวจหาเชื้อในผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่ามีการติดเชื้อไวรัสและแบคทีเรียอย่างต่อเนื่อง ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ไบโอเทค สวทช. ได้พัฒนา ชุดตรวจหาเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 ที่เป็นสาเหตุของโรค COVID-19 โดยใช้เทคนิคแลมป์เปลี่ยนสีแบบง่ายในขั้นตอนเดียว (colorimetric LAMP-XO) ให้ผลการทดสอบภายใน 1 ชั่วโมง สามารถอ่านผลได้ด้วยตาเปล่าโดยไม่ต้องใช้ผู้เชี่ยวชาญ โดยหากสีของสารละลายเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลืองแสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แต่หากสียังคงเป็นสีม่วงแสดงว่าไม่มีการติดเชื้อ ปัจจุบันชุดตรวจนี้อยู่ในขั้นตอนของการทดสอบกับตัวอย่างจากผู้ป่วยในจำนวนที่มากขึ้น ร่วมกับคณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล โดยคาดว่าจะพร้อมหารือกับกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) เพื่อการขยายผล ในเดือนมิถุนายน 2563 ทีมวิจัยเทคโนโลยีวิศวกรรมชีวภาพและการตรวจวัด ไบโอเทค สวทช. ชุดตรวจ LAMP COVID-19 การอ่านผลด้วยตาเปล่า หากสีของสารละลายเปลี่ยนจากสีม่วงเป็นสีเหลืองแสดงว่ามีการติดเชื้อไวรัส SARS-CoV-2 แต่หากสียังคงเป็นสีม่วงแสดงว่าไม่มีการติดเชื้อ